วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

ใครคืออุบาสก ?

SHARE
ใครเป็นอุบาสก เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า อุบาสก อะไรคือศีลของอุบาสก อาชีพอย่างไร วิบัติอย่างไร สมบัติอย่างไร.

    ใครคืออุบาสก ?

      ในปกิณณกะนั้น ใครคืออุบาสก คือคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง. สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อน มหานาม เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้ถึง
พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ชื่อว่าอุบาสก.

      เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า อุบาสก ?

      เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย.
      จริงอยู่ อุบาสกนั้น ชื่อว่าอุบาสก ด้วยอรรถว่า นั่งใกล้พระพุทธเจ้า. นั่งใกล้พระธรรมพระสงฆ์ก็เป็นอุบาสกเหมือนกัน.

      อะไรคือศีลของอุบาสกนั้น ?

      เวรมณี ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก. เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า
ดูก่อน มหานาม เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้งดเว้น
จากปาณาติบาต
จากอทินนาทาน
จากกาเมสุมิจฉาจาร
จากมุสาวาท
จากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูก่อน มหานาม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล

      อาชีพอย่างไร ?

      คือ ละการค้าขายผิดศีลธรรม ๕ อย่าง เลี้ยงชีพโดยธรรมสม่ำเสมอ.
สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้ อุบาสกไม่ควรทำ ๕ อย่างอะไรบ้าง ?
การค้าขายศัสตรา
การค้าขายสัตว์
การค้าขายเนื้อสัตว์
การค้าขายน้ำเมา
การค้าขายยาพิษ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้แล อุบาสกไม่ควรทำ ดังนี้.

      วิบัติอย่างไร ?

      คือ ศีลวิบัติและอาชีววิบัติของอุบาสกนั้นแหละ เป็นวิบัติของอุบาสก.

      อีกอย่างหนึ่ง อุบาสกนี้เป็นจัณฑาล เป็นมลทิน และเป็นผู้ที่น่ารังเกียจด้วยกิริยาใด กิริยาแม้นั้น พึงทราบว่าเป็นวิบัติของอุบาสก.

         ก็วิบัติเหล่านั้น โดยอรรถได้แก่ธรรม ๕ อย่างมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น. เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมเป็นอุบาสกจัณฑาล เป็นอุบาสกมลทิน และเป็นอุบาสกที่น่ารังเกียจ ๕ อย่างอะไรบ้าง ?
คือเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
เป็นคนทุศีล
เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว
เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม
และแสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา ทำบุญในทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น ดังนี้.

      สมบัติอย่างไร ?

      ศีลสมบัติและอาชีวสมบัติของอุบาสกนั้นนั่นแหละ เป็นสมบัติของอุบาสก ได้แก่ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาเป็นต้น ที่กระทำความเป็นอุบาสกรัตนะเป็นต้น. เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ เป็นอุบาสกปทุม และเป็นอุบาสกบุณฑริก ๕ ประการอะไรบ้าง
คือเป็นผู้มีศรัทธา
เป็นผู้มีศีล
ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว
เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล
ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา และทำบุญในพระศาสนานี้ ดังนี้.

สุมังคลวิลาสินี  อรรถกถาทีฆนิกาย  สีลขันธวรรค

อุบาสกอุบาสิกที่เป็นตราชูเป็นประมาณ

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นจิตตคฤหบดีและหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตตคฤหบดีและหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีนี้เป็นตราชูเป็นประมาณแห่งอุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา

         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็น
เช่นนางขุชชุตตราอุบาสิกา และนางเวฬุกัณฏกีนันทมารดาเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางขุชชุตตราอุบาสิกา และนางเวฬุกัณฏกีนันทมารดานี้เป็นตราชูเป็นประมาณของอุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา.
                     จบอายาจนสูตรที่ ๖

                       ๕. จัณฑาลสูตร
              ว่าด้วยธรรมสำหรับอุบาสกดีและอุบาสกชั่ว
      [๑๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน ? คือ 
อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ 
เป็นผู้ทุศีล ๑ 
เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม ๑ 
แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ 
ทำการสนับสนุนในศาสนานั้น ๑ 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด.
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน ?
คือ อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ๑ 
เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว
เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ๑ 
ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ 
ทำการสนับสนุนในศาสนานี้ ๑ 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก.
                     จบจัณฑาลสูตรที่ ๕

          พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์  สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ เป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใสตั้งอยู่ในศีล ๕ สมาทานอุโบสถศีลในวันอุโบสถ เวลาก่อนอาหาร ถวายทานแด่ภิกษุทั้งหลาย ตามสมควรแก่สมบัติของตน แล้วจึงบริโภคเอง นุ่งห่มผ้าสะอาด เวลาหลังอาหาร โดยมากให้คนถือน้ำอัฏฐบานไปวิหาร มอบถวายแด่ภิกษุสงฆ์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรม เขาสั่งสมสุจริตมากทั้งด้านทานและด้านศีล โดยเคารพด้วยอาการอย่างนี้ จุติ จากภพนี้ เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ช้างทิพย์ใหญ่เผือกปลอด ได้ปรากฏด้วยบุญญานุภาพของเขา เขาขี่ช้างนั้นไปเล่นอุทยานเสมอ ๆ ด้วยบริวารเป็นอันมาก ด้วยทิพยานุภาพยิ่งใหญ่.

ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย วิมานวัตถุ

SHARE

Author: verified_user

0 ความคิดเห็น: