วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

ตำนานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต

SHARE
ย้อนรอยความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ กับกระบวนการพิสูจน์ความจริงในยุครัชกาลที่ 5
โดย : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

เช้าตรู่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ผ้าแดงผืนใหญ่ถูกแห่ขึ้นห่มองค์ภูเขาทอง เป็นสัญลักษณ์ว่าอีก ๓ วันข้างหน้า งานสักการะพระบรมสารีริกธาตุประจำปีจะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง สัญลักษณ์เด่นตระการของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่อยู่คู่กับราชธานีแห่งนี้มานับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

สำหรับชาวพุทธส่วนใหญ่ งานสมโภชน์ที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือน ๑๒ ของทุกปีเช่นนี้ หมายถึงช่วงเวลาสำคัญที่จะได้เข้าร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในการสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์ภูเขาทอง เปรียบประดุจการได้ทำการถวายสักการะพระพุทธองค์ต่อหน้าพระพักตร์อย่างใกล้ชิด

แต่อีกหลายคนวาระอันสำคัญนี้หมายถึงความสงสัยในความจริงแท้ของพระบรมสารีริกธาตุย้อนกลับมาให้คิดถึงอีกครั้ง จะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ชาวพุทธกระทำการมหาสักการะด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นนั้น คือสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ซึ่งความสงสัยนี้เคยถูกทำให้จางหายไปจากใจคนในอดีต ด้วยกระบวนการการพิสูจน์ความจริงว่าด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการขึ้น เพื่อตอบคำถามของทั้งชาวไทยและชาวโลกในยุคสมัยของพระองค์

ความสงสัยในความแท้หรือเทียมของพระบรมสารีริกธาตุนี้ ดังขึ้นนับแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๗ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๑) เมื่อ ยอจ์ช เครฟวิล ราชทูต และกงสุลแห่งประเทศอังกฤษ มีจดหมายในนามรัฐบาลอินเดีย ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของสยาม ณ ขณะนั้น ความตอนหนึ่งว่า

“...ท่อนอัฐิและอังคารที่พบปะขึ้นนี้ ปรากฏว่าเป็นของพระสมณโคดมพุทธศากยมุณี...สิ่งของอื่นๆ ทั้งหลายที่พบขึ้นด้วยกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชอบใจของผู้ศึกษาชาวยุโรป...ส่วนพระพุทธสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นอัฐิและอังคารนั้น เป็นของนับถือศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนิกชน เหตุฉะนั้นรัฐบาลอินเดียจึงมีความประสงค์จะทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นบรมกษัตริย์ ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาอยู่พระองค์เดียวทุกวันนี้ เพื่อจะได้ทรงจำแนกแก่ผู้ที่ควรได้รับรักษาไว้” (จากสำเนาคำแปลจดหมาย, เอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๑๒/๑๑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
“พระพุทธสารีริกธาตุ” ที่ ยอจ์ช เครฟวิล อ้างถึงในจดหมายคือ “พระอัฐิและอังคาร” ที่ วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป ชาวอังกฤษ ขุดพบในต้น ร.ศ. ๑๑๖ ใต้พื้นดินในบริเวณที่เรียกว่า ปิปราห์วะ โกต (Piparahawa Kot) แควันบัสติ ซึ่งในอดีตถือว่าอยู่ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์ และมีการพิสูจน์จากรัฐบาลอินเดียและอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดีย แล้วว่าเป็น “อัฐิของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า”

จดหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในราชสำนักแห่งสยามอย่างยิ่งว่า ควรจะมีทีท่าอย่างไรในการตอบกลับรัฐบาลอินเดีย

“การที่จะพึงกล่าวมีอยู่แต่สองอย่าง คือจะรับเชื่อถือหรือไม่รับโดยไม่เชื่อถือเท่านี้...ถ้ารับ จำต้องระวังการที่นักปราชญ์ในประเทศอื่นจะกล่าวคำโต้แย้งว่า พระธาตุรายนี้มิใช่พระบรมสารีริกธาตุโดยแท้ ถ้าหากว่าเขาหาเหตุผลประจักษ์แก่ตาชาวโลกได้ว่ามิใช่พระบรมสารีริกธาตุโดยแท้ ความเสื่อมเสียในข้อที่หลงเชื่อสิ่งที่ไม่เป็นจริงก็จะบังเกิดขึ้น ถ้าหากว่าไม่รับ ก็จำเป็นจะต้องทรงชี้แจงเหตุผลให้ประจักษ์แก่ตาชาวโลกว่าไม่ควรเชื่ออัฐิรายนี้ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุโดยเหตุใด ถ้าไม่ชี้แจงได้เช่นนั้นพวกนับถือศาสนาในเมืองอื่น คือ เมืองลังกา และเมืองพม่า พากันลงเนื้อเชื่อถือได้ไปไว้ในเมืองนั้นๆ ความเสื่อมเสียพระเกียรติยศก็จะมี เป็นการยากมีอยู่ทั้งสองฝ่ายฉะนี้” ส่วนหนึ่งของจดหมายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการมหาดไทย เขียนกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเดิมพันในการเชื่อหรือไม่เชื่อในความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุครั้งนี้ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อราชสำนักสยามนัก

การพิสูจน์ทราบความจริงแท้แห่งองค์พระบรมสารีริกธาตุ เริ่มขึ้นนับแต่วันที่จดหมายจากยอช เครฟวิล เดินทางถึงราชสำนักสยาม ไปจนถึงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ ที่ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ มีจดหมายตอบกลับไปยังยอจ์ช เครฟวิล ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุนั้น โดยจะเริ่มออกเดินทางในเดือนธันวาคมทันที ชัดเจนว่าสยามประเทศมีข้อยุติแล้วว่า มีความเชื่อถือในพระบรมสารีริกธาตุนั้นว่าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่มีทางปฏิเสธว่าไม่ใช่

เอกสารหลักฐานทางประวัติสาสตร์ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการวินิจฉัยของราชสำนักสยามนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการพิจารณาจากหลักฐานเอกสารที่รัฐบาลอินเดียทำสำเนาส่งมา ซึ่งทางอินเดียและอังกฤษเองก็มีกระบวนการพิสูจน์ที่ละเอียดยิ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระชินวรวงศ์ ภิกษุ (อดีตพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ซึ่งจาริกแสวงบุญอยู่แถบประเทศศรีลังกาและอินเดียในขณะนั้น เดินทางไปตรวจสอบหลักฐานถึงถิ่นที่ค้นพบ โดยเฉพาะจารึกโบราณ อันเป็นหลักฐานสำคัญที่ระบุว่า พระอัฐิธาตุที่พบเป็นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลักฐานทุกอย่างที่ได้รับจากรัฐบาลอินเดีย และจากพระชินวรวงษ์ ถูกนำสู่ที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งหลายท่านเชี่ยวชาญทั้งทางพุทธประวัติ ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี รวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์อักษรพราหมี ซึ่งเป็นอักษรโบราณสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เพื่อถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น และตรวจสอบหลักฐานร่วมกันอย่างละเอียด

ย้อนกลับสู่ปิปราห์วะ โกต ยุคต้น ร.ศ. ๑๑๖ เมื่อมิสเตอร์เปปเป ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ เขาได้พบสิ่งของมากมาย และได้บันทึกการค้นพบนั้นลงพิมพ์ในวารสารรายเดือนของ “รอยัลเอเซียติก โซไซอตี้” ลงวันที่ ๑๕ กรกฏาคม ค.ศ.๑๘๙๘ (ร.ศ. ๑๑๗, พ.ศ. ๒๔๔๑) ซึ่งมีคำแปลบันทึกอยู่ในเอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๒/๑๑ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ สรุปได้ว่า มีหีบศิลาทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ๑ ใบ ในหีบศิลาพบภาชนะ ๕ ชิ้น ประกอบด้วย ผอบศิลา ๒, ตลับศิลา ๒, หม้อศิลา ๑, และชามแก้วมีฝาเป็นรูปปลาที่มือถือ ๑ ในภาชนะเหล่านั้นมี “อัฐิหลายท่อน” พลอยจารนัยหลายอย่าง แผ่นทองคำทำเป็นรูปดาวและสี่เหลี่ยม กับที่ตีพิมพ์รูปราชสีห์ ซึ่งมีการพิสูจน์ภายหลังว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าสากยสิงหะ ที่สำคัญคือตามรอบของฝาผอบใบที่ ๑ มีคำจารึกเป็นอักษรพราหมี อันเป็นภาษาที่มีใช้ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.๒๔๐- พ.ศ.๓๑๐) อยู่ด้วย

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลอังกฤษ เทียบเคียงสิ่งของที่เปปเปพบ กับสิ่งของที่มีการพบกันก่อนหน้านั้น ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเกี่ยวพันกับวิถีของชาวพุทธสมัยพระเจ้าอโศก อีกทั้งมีการแปลอักษรพราหมีที่จารึกรอบฝาผอบใบที่ ๑ เป็นภาษาบาลี และภาษาอังกฤษ ราชสำนักสยามสร้างความมั่นใจให้ตนเองด้วยการให้พระชินวรวงษ์ คัดลอกจารึกอักษรพราหมี ส่งกลับมายังดินแดนสยาม เพื่อให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทำการศึกษาเทียบเคียงกับอักษรพราหมีที่ปรากฏในจารึกอโศก ที่ขุดค้นพบก่อนหน้านั้นโดยตรง ซึ่งกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สรุปความได้ว่า

“นี้ ที่บรรจุพระสรีระของพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้า ของศากยพี่น้องผู้ชายผู้มีเกียรติงาม พร้อมทั้งพี่น้องผู้หญิง พร้อมทั้งลูกเมีย”

ในขณะที่ฝ่ายอินเดีย เมื่อแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ และถอดความเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งได้ความว่า “อัฐซึ่งฝังเก็บไว้นี้ เป็นอัฐิของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นส่วนของผู้มีเกียรติคุณ อันเป็นภาดาและภคินี กับทั้งบุตรและบุตรสะใภ้ แห่งวงศ์สกยราช”

เมื่อนำข้อความของจารึกโบราณนั้นมาพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา และเหล่ามัลลกษัตริย์ร่วมกันถวายพระเพลิงแล้ว โทณพราหมณ์ได้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารรีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน เพื่อให้บรรดากษัตริย์ที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ เพื่อเข้าร่วมงานพระบรมศพ ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เมืองของตน ให้ชาวเมืองได้สักการะบูชา

พระบรมสารีริกธาตุ ๑ ใน ๘ ส่วนนั้น ถูกแบ่งให้กับกษัตริย์สกยราช(ศากยราช) พระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เพื่อให้อัญเชิญไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ประกอบหลักฐานอื่นๆ ที่ทางอินเดียส่งมาให้ ความสงสัยของราชสำนักสยามในความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าฯ ถวาย ก็เป็นอันสิ้นสุดลง

๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๗ (การนับรัตนโกสินทร์ศกใช้เดือนเมษายนเป็นเดือนแรก และเดือนมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี เมื่อเทียบกับปัจจุบันจึงเป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒) พระยาสุขุมนัยวินิต เดินทางถึงโกรักบุรี และเข้ารับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากข้าหลวงใหญ่เมืองโกรักบุรี เชิญบรรจุในพระเจดีย์กะไหล่ทองคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาจากกรุงสยาม และเดินทางกลับถึงรัฐสยามในวันที่ ๒ มีนาคม ขึ้นฝั่งที่เมืองตรัง จากตรัง พระบรมสารีริกธาตุได้รับการอัญเชิญต่อไปยังพระวิหารบนเกาะพระสุมทรเจดีย์ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์กะไหล่ทองคำจะได้รับการประดิษฐานบนบุษบก เพื่อรอฤกษ์เคลื่อนไปประดิษฐานที่บรมบรรพตต่อไป

๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๒) พระสงฆ์ ๘ รูป พร้อมเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา กรมราชบัณฑิต กรมสังฆการี เดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่วิหารเกาะพระสุมทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ ประดับประดาด้วยดอกไม้ ธงทิว จากสถานีรถไฟตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพง) ขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ของพระบรมวงศานุวงศ์ นำโดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนนครราชสีมา พระสงฆ์ และเหล่าทายก ทายิกา ได้ร่วมกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาตามถนนเจริญกรุง ถนนวรจักร และ ถนนบำรุงเมือง มุ่งหน้าสู่พระบรมบรรพต เพื่อบรรจุลงประดิษฐาน ณ ใจกลางพระเจดีย์ ให้พุทธศาสนิกชนได้กระทำการถวายสักการะอย่างใกล้ชิดจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ ๑๑๓

แม้กระบวนการและขั้นตอนในการพิสูจน์ความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการขึ้นนี้ จะยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับอีกหลายคำถามได้ เช่น อัฐิในภาชนะทั้ง ๕ ใบ ที่เปปเปขุดพบเป็นของพระพุทธองค์ทั้งหมด หรือเฉพาะอัฐิที่อยู่ในผอบใบที่มีอักษรโบราณจารึกอยู่ หากเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด แล้วเหตุใดจึงบรรจุแยกผอบกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามรัชกาลที่ ๕ ทรงถามขึ้นในที่ประชุมเสนบดีในครั้งนั้น และยังไม่มีหลักฐานแสดงเหตุผลได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคืออัฐิที่ค้นพบที่อินเดีย และประดิษฐาน ณ บรมบรรพต แห่งวัดสระเกศฯ ในปัจจุบันนี้ได้รับการยืนยันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แลัวว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระแห่งพระพุทธองค์อย่างไม่ต้องสังสัย ข้อสรุปนี้ น่าจะทำให้ความคลางแคลงใจของพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่จางหายไปและเข้าร่วมงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนนี้ ได้ด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล
- จดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาตุ เอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๒/๑๑, ๓/๑๑, ๑๒/๑๑ และ ๑๓/๑๑ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และจดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาติเมืองกบิลพัสดุ์ คณะรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระอริยวงศาคตฐาน (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช, ๒๐ พศจิกายน ๒๕๐๘
- บามิยัน ดินแดนประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร), ธันวาคม ๒๕๕๕
กราบขอบพระคุณ พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ พระมหาพิศุทธิ์ วิสุทฺโธ วัดสระเกศฯ สำหรับคำแนะนำและการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและภาพประกอบ
ภาพทั้งหมด : เอื้อเฟื้อโดยวัดสระเกศ ซึ่งสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง




ผอบองค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีอักษรโบราณกำกับอยู่ นาย T.W. Rhys Davids แปลได้ความว่า ‘นี้คือพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งศากกะยะวงศ์อันประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นประธาน อันห้อมล้อมบำรุงโดยราชตระกูล: This shrine for Relics of the Buddha, the August one, is that of the Sakayas, the brethren of the Distinguished one, is association with their sister and with their children and their wives.’



จารึกที่ปรากฏบนพระผอบอ่านเป็นภาษาสันสกฤต ออกเสียงว่า

Sukiti bhatinam sa-puta-dalanam iyam salila-nidhane Budhasa bhagavate sakiydnam. 

ซึ่งนักโบราณคดีแปลไว้โดยสำนวนต่างๆกัน แต่ในทำนองเดียวกันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้น

นี้คือพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งศากกะยะวงศ์อันประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นประธาน อันห้อมล้อมบำรุงโดยราชตระกูล
ยังมีอื่นๆอีก ดังเช่น

“This relic deposit of the Lord Buddha is the share of this renowned Sakya brethren, his own sister’s children and his own son.”

ภาษาอังกฤษข้างบน บางสำนวนเป็นพหูพจน์ ถอดความประมาณนี้
ที่บรรจุพระบรมสารีริธาตุนี้ร่วมกัน(สร้าง)โดยพี่น้อง(ชาย)ศากยวงศ์ พี่น้องหญิงและบรรดาบุตร(ของเขาและเธอเหล่านั้น)
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5762.15

ตำนานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต รวมตอนที่ 1/3

สารคดีประวัติศาสตร์ที่จะพาทุกท่านย้อนอดีตสู่การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมไปถึงคตินิยมและรูปแบบการสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากชมพูทวีปมายังดินแดนสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่พุทธศาสนิกชนสืบทอดมาจนปัจจุบัน

ตำนานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต รวมตอนที่ 2/3

ตำนานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต รวมตอนที่ 3/3


.
Do the jewels, bones and ashes found in an Indian tomb in 1898 mark the final resting place of the Buddha himself, or was it all an elaborate hoax? When Colonial estate manager, William Peppe, set his workers digging at a mysterious hill in Northern India in 1898, he had no idea what they'd find. Over twenty feet down, they made an amazing discovery: a huge stone coffer, containing some reliquary urns, over 1000 separate jewels and some ash and bone. One of the jars had an inscription that seemed to say that these were the remains of the Buddha himself. This seemed to be a most extraordinary find in Indian archaeology. But doubt and scandal have hung over this amazing find for over 100 years. For some, the whole thing is an elaborate hoax. For others, it is no less than the final resting place of the messiah of one of the world's great religions. For the doubters, suspicion focuse..


การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุส่งสัณฐานกระดูกมนุษย์


คนเชื่อมภพ พระบรมสารีริกธาตุ 

รายการเปิดโลกสดใส (FULL) #พระบรมสารีริกธาตุ 


สนทนาเรื่องพระธาตุกับลุงทองดี



ไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุกับญาติธรรม


SHARE

Author: verified_user

0 ความคิดเห็น: